เรียนภาษาอังกฤษตอนเด็กเก่งเร็วกว่าตอนโตจริงหรือ?

ทุกวันนี้คนที่มีความสามารถในภาษาที่สอง หรือสาม มักจะได้เปรียบในเรื่องของการทำงาน หรือมีโอกาสในเส้นทางชีวิตมากกว่าคนที่พูดได้เพียงภาษาเดียว จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนพยายามเตรียมพร้อมบุตรหลานของตัวเองสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งบางคนที่พบเห็นก็ต่างสงสัยว่า การเรียนตั้งแต่อายุยังน้อยขนาดนี้มีส่วนช่วยในพัฒนาการด้านภาษาจริงหรือ? หรือเป็นเพียงการกดดันเด็กให้ปวดหัวกับเรื่องทางวิชาการเท่านั้น?

วันนี้เราจะมาให้คำตอบกันว่า ทำไมการเรียนภาษาที่สอง ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาใดก็ตาม ตั้งแต่ยังเด็ก ถึงมีประโยชน์มากกว่าที่คิด และยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการของน้องๆ ให้เก่งมากขึ้นในทุกๆ ด้านอีกด้วย จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

สมองมนุษย์ในวัยเด็กเรียนรู้ภาษาได้เก่งกว่าตอนโต

ถ้าพูดกันในแง่ของวิทยาศาสตร์จริงๆ แล้ว ผลการศึกษาปรากฏว่า พัฒนาการด้านภาษาของเด็กจะมีมากที่สุดตั้งแต่ช่วงแรกเกิดไปจนถึงอายุประมาณ 6 ขวบ จากนั้นพัฒนาการด้านนี้จะค่อยๆ ลดลงเมื่อเติบโตขึ้น ทำให้เป็นอุปสรรคในการเรียนภาษาอื่นๆ เพราะต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ สมองของเด็กจึงเปรียบได้กับฟองน้ำ ที่พร้อมจะดูดซับสิ่งต่างๆ รอบตัวไว้ให้มากที่สุดนั่นเอง

สมองเด็กแยกความต่างของเสียงได้ดีมาก

รู้กันหรือไม่ว่า สมองของเด็กนั้นสามารถแยกเสียงต่างๆ ได้อย่างละเอียดมากกว่าสมองของผู้ใหญ่เสียอีก โดยเฉพาะในช่วงอายุก่อน 10-12 เดือน แล้วหลังจากนั้นเด็กก็จะเรียนรู้เอาเองว่าเสียงไหนที่ควรจดจำเพื่อสร้างคำพูดที่มีความหมายขึ้นมาตามภาษาแม่ของตัวเอง และตัดเสียงที่ไม่ได้ใช้ออกไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ถ้าพ่อแม่คนไหนอยากฝึกให้เด็กเคยชินกับเสียงต่างๆ ในภาษาใดๆ ก็ควรพูดสลับกันไปมา หรือเฉลี่ยให้เด็กได้ยินได้ฟังในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน เพื่อช่วยให้เด็กจดจำเสียงต่างๆ ได้มากขึ้น

ได้ฝึก และจดจำสำเนียงของ เจ้าของภาษา

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้วที่สมองของเด็กสามารถแยกเสียงต่างๆ ได้ละเอียดกว่าวัยผู้ใหญ่ ทำให้เด็กเรียนรู้ได้โดยอัตโนมัติว่าคำต่างๆ ควรออกเสียงอย่างไรจึงจะเป็นเสียงที่ถูกต้อง แล้วยิ่งถ้าเด็กได้ฟังเสียงของเจ้าของภาษาบ่อยๆ จะทำให้เด็กพูดได้เหมือนเจ้าของภาษาจริงๆ ด้วย

เสริมสร้างความมั่นในการพูดได้ดีมาก

สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างเด็กกับวัยผู้ใหญ่คือ ผู้ใหญ่ในบางครั้งไม่สามารถพูดออกมาได้ตรงๆ หรือมีสิ่งที่ต้องคิดคำนึงถึงเต็มไปหมดว่า จะพูดผิดแกรมมาร์หรือไม่ จะเสียหน้าหรือไม่ถ้าพูดผิด แต่ในวัยเด็ก น้องๆ มักจะพูดออกมาตามความรู้สึกของตัวเอง แล้วถ้าน้องๆ กล้าพูดผ่านทางการเล่นกิจกรรม หรือสิ่งที่ทำให้เขาสนุกสนาน เขาจะยิ่งกล้าพูดมากกว่าเดิม และเป็นการสร้างความมั่นใจในการใช้ภาษาให้แบบเต็มที่อีกด้วย

ตอนเป็นเด็กเรียนน้อยกว่าตอนโต (จริงๆ)

ในช่วงที่น้องๆ อายุประมาณ 2-6 ขวบ ยังเป็นช่วงที่ยังไม่ต้องเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา และช่วงวัยนี้ก็ยังไม่ได้ต้องเรียนอะไรที่เป็นวิชาการมากมาย มีแต่การเรียนรู้เสริมทักษะตามช่วงวัยเท่านั้น ทำให้น้องๆ สามารถเรียนรู้ และฝึกภาษาได้อย่างเต็มที่มากกว่า แล้วยังไม่เจอปัญหาด้านระบบความคิดแบบผู้ใหญ่ที่มีความซับซ้อน ทำให้ต้องคิดหลายๆ ตลบกว่าจะพูดออกมาได้สักหนึ่งประโยค แต่เด็กแค่แสดงความรู้สึกนึกคิดออกมาตรงๆ ตามประสาเด็กเท่านั้น ทำให้ไม่ต้องคิดมากเท่ากับผู้ใหญ่ และยังไม่มีอะไรต้องเรียน ต้องกดดันมากเท่าผู้ใหญ่นั่นเอง

เด็กมีเวลามากกว่า!

ย้อนกลับไปคิดถึงตอนเราเป็นเด็ก ในแต่ละวันของเราก็ไม่มีอะไรวุ่นวายเท่ากับตอนที่เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว นั่นแปลว่า เด็กมีเวลามากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่าตัว ทำให้เขาสามารถเพิ่มโฟกัสกับสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในครอบครัวช่วยกันฝึกภาษาให้เด็กๆ ได้ใช้งานตลอดเวลา ไม่ว่าจะสลับเป็น ไทย/อังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ก็ตาม ถือว่าเป็นการช่วยสร้างความคุ้นเคยให้น้องๆ ได้ดี

การเรียนภาษาที่สองมีส่วนช่วยเรื่องการทำข้อสอบ

มีผู้วิจัยแล้วว่า การเรียนภาษาที่สองของเด็ก สามารถช่วยในเรื่องการทำข้อสอบ และการเรียนรู้วิชาอื่นๆ ให้มีแนวโน้มการได้คะแนนที่สูงมากขึ้นด้วย โดยผลวิจัยดังกล่าวระบุว่า เด็กเกรด 3, 4 และ 5 ที่มีการเรียนภาษาที่สองเป็นเวลา 30 นาที สามารถทำคะแนนข้อสอบ 1985 Basic Language Arts Test ได้ดีกว่า นอกจากนี้ การทดสอบในวิชาคณิตศาสตร์ กลุ่มเด็กที่เรียนภาษาที่สองก็ทำคะแนนได้ดีกว่าเช่นกัน โดยปัจจัยของทั้งสองกลุ่มถูกคัดกรองให้เหมือนกันมากที่สุดทั้ง เพศ, เชื้อชาติ, ระดับความรู้ทางวิชาการ จะมีปัจจัยต่างเพียงอย่างเดียว คือ การเรียนภาษาที่สอง เท่านั้น

ฝึกระบบความคิดที่ซับซ้อนให้ดีมากยิ่งขึ้น

เด็กที่เรียนสองภาษาจะมีการมองโลก และมีระบบความคิดที่แยกออกเป็นสองฝั่ง เพราะตัวภาษาจะมาพร้อมกับวัฒนธรรม และระบบความคิดที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านทางภาษาตลอดเวลา ซึ่งส่งผลโดยตรงกับความคิดสร้างสรรค์ อย่างเช่น ในภาษาไทย มีคำใช้เรียกแทนบุรุษที่ 1, 2 และ 3 อยู่เยอะมาก และส่วนใหญ่เป็นคำที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ในระดับเครือญาติ และระดับความอาวุโส ทั้ง พี่, ป้า, น้า, อา, ลุง, คุณ, เธอ, นาย, ท่าน, เรา, ผม, ฉัน, ดิฉัน, กระผม ฯลฯ แต่ภาษาอังกฤษจะมีคำแทนบุรุษที่ 1 และ 2 แค่ I และ You เท่านั้น เวลาพูดภาษาอังกฤษจึงต้องตัดความอาวุโส หรือความสัมพันธ์แบบเครือญาติออกไป และทำให้ทุกคนเท่ากันไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม ความซับซ้อน และความแตกต่างของวัฒนธรรมผ่านตัวภาษานี้จะทำให้เด็กมีวิธีคิดหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ต่อยอดในด้านอาชีพได้ในวัยทำงาน

ถ้าเด็กๆ ได้ฝึกภาษาจนคล่อง แล้วมีการใช้ภาษาอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น และวัยทำงาน ความก้าวหน้า และโอกาสด้านอาชีพการงานก็มักจะมีมากกว่า เพราะทุกวันนี้ส่วนใหญ่สกิลภาษาอังกฤษก็มักจะเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมีติดตัวไว้อยู่แล้ว ดังนั้น หากใครที่เก่งภาษาก็มักจะมีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่มากกว่าตามไปด้วย

ได้ยินแบบนี้คุณพ่อคุณแม่ก็น่าจะสบายใจได้ว่าการเรียนภาษาตั้งแต่เด็กไม่ได้เป็นการกดดัน หรือสร้างความเครียดให้กับเด็กจนเกินไป แต่ต้องเน้นย้ำกันอีกทีว่า ถ้าอยากให้น้องพร้อม ได้เรียนรู้ทุกสิ่งแบบที่อ่านมา ใช้ภาษาได้เต็มที่ ไม่ใช่แค่เอาไปสอบให้ผ่าน ผู้ปกครองควรต้องเลือกโรงเรียน หรือสถาบันสอนภาษาที่เข้าใจธรรมชาติของเด็กด้วยว่าพวกเขาต้องเรียนรู้อย่างไร แล้วหลักสูตรที่น้องจะเข้าไปเรียนมีความน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดผลดีกับตัวน้องๆ ออกเองมากที่สุดด้วย 🙂

รายละเอียดเพิ่มเติม : ertheo.com , spanishiw.com